ขึ้นทะเบียนประกันสังคม

การขึ้นทะเบียนกองทุนทดแทนและกองทุนประกันสังคม

1. การขึ้นทะเบียนนายจ้าง

  • จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
  • นายจ้างจะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วัน เมื่อมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป
  • กองทุนที่จะต้องจดทะเบียน ประกอบด้วย
      1. กองทุนเงินทดแทน

    1.1 การขึ้นทะเบียนกองทุนทดแทน เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้างหรือผู้มีสิทธิ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทำให้หยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โดยคุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน นายจ้างจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบกองทุนทดแทนตั้งแต่วันที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้าง
    1.2 สำนักงานประกันสังคมจะประเมินการชำระเงินกองทุนทดแทนปีแรก เมื่อเร่ิ่มขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้าง โดยสำนักงานประกันสังคมจะมีหนังสือแจ้งประเมินการจ่ายเงินสมทบกองทุนทดแทนหลังจากผู้ประกอบการได้ขึ้นทะเบียนนายจ้างแล้วประมาณ 7-15 วัน โดยจะแจ้งให้นายจ้างไปชำระเงินภายใน 30 วัน โดนนายจ้างสามารถนำไปชำระได้ที่ สำนักงานประกันสังคม เคาเตอร์ธนาคารที่กำหนด หรือชำระผ่านระบบ e-Payment
    1.3 การประเมินการชำระเงินกองทุนทดแทนประจำปีถัดไป สำนักงานประกันสังคม จะประเมินจากค่าจ้าง/เงินเดือนต้นปี และจะมีหนังสือประเมินการจ่ายเงินสมทบกองทุนทดแทนประจำปีให้นำส่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี
    1.4 การประเมินการชำระเงินกองทุนทดแทนในรอบปีที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม จะจัดส่งเอกสารให้ผู้ประกอบการ(นายจ้าง) ดำเนินการสำรวจค่าจ้าง/เงินเดือนที่จ่ายให้กับลูกจ้างในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อคำนวณเงินกองทุนทดแทนทั้งปี เปรียบเทียบกับเงินกองทุนทดแทนที่ได้ชำระไปว่ามียอดเงินแตกต่างกันหรือไม่ หากในการประเมินครั้งแรกต่ำกว่าที่จะต้องเรียกเก็บจริง สำนักงานประกันสังคม จะทำการเรียกเก็บส่วนต่างเพิ่มเติม และให้นำไปชำระภายในเดือนมีนาคม แต่หากประเมินแล้ว มีการเรียกเก็บสูงกว่าที่ประเมิน จะหักกลบกับยอดที่จะต้องชำระภายในปีนั้นๆ
    1.5 นายจ้างสามารถนำเงินที่จ่ายสมทบกองทุนทดแทน มาเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้

      2. กองทุนเงินประกันสังคม

    2.1 สำนักงานประกันสังคมจะคำนวณการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากค่าจ้างหรือเงินเดือนที่จ่ายให้กับลูกจ้างขั้นต่ำ 1,650 บาท/เดือน สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะคำนวณเงินสมทบที่ต้องนำส่งในอัตรา 5% ของอัตราค่าจ้างหรือเงินเดือนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
    2.2 เมื่อคำนวณแล้วเงินที่ต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมเริ่มต้นขั้นต่ำ 82.50 บาท สูงสุด 750 บาท/เดือน โดยจะต้องนำส่งให้สำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือน จนกว่าลูกจ้างจะพ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้าง โดนนายจ้างสามารถนำไปชำระได้ที่ สำนักงานประกันสังคม เคาเตอร์ธนาคารที่กำหนด หรือชำระผ่านระบบ e-Payment
    2.3 นายจ้างสามารถนำเงินที่จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้
    2.4 เมื่อลูกจ้างพ้นสภาพจากเป็นลูกจ้างของกิจการแล้ว นายจ้างจะต้องแจ้งให้สำนักงานประกันสังคมทราบภายใน 30 วัน เพื่อนำชื่อลูกจ้างออกจากระบบของนายจ้าง

  • นายจ้างไม่มีสิทธิเข้าสมัครเป็นผู้ประกันตน

2. การขึ้นทะเบียนลูกจ้าง

  • จะต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างพร้อมการขึ้นทะเบียนนายจ้าง ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีลูกจ้างเริ่มทำงาน
  • ลูกจ้างจะต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี
  • ลูกจ้างมีหน้าที่ชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมร่วมกับนายจ้างในอัตรา 5% ของค่าจ้างหรือเงินเดือนที่ได้รับต่อเดือน ขั้นต่ำ 82.50 บาท สูงสูดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
  • ลูกจ้างที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะสามารถใช้สิทธิผลประโยชน์ต่างๆ จากกองทุนประกันสังคมได้เมื่อส่งเงินประกันสังคมตั้งแต่ 3 เดือน (90 วัน) ขึ้นไป สำหรับผู้ที่เคยขึ้นทะเบียนประกันสังคมมาก่อนแล้ว สามารถใช้สิทธิต่อเนื่องได้ทันที
  • หากลูกจ้างประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน สามารถใช้สิทธิรับเงินทดแทนจากกองทุนทดแทนได้ทันทีที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน
  • ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม ไม่ได้จัดทำบัตรประจำตัวผู้ประกันตนให้แล้ว ผู้ประกันตนสามารถแสดงการใช้สิทธิในการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลที่เลือกไว้ได้ โดยแสดงเฉพาะบัตรประชาชนเท่านั้น

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนนายจ้าง
1. จัดทำคำขอขึ้นทะเบียนนายจ้าง
2. บันทึกรายละเอียดชื่อ-นามสกุลลูกจ้าง อายุ ความเกี่ยวข้องกับนายจ้าง ตำแหน่ง ประเภทค่าจ้าง และวันที่เข้าทำงาน ในแบบแจ้งรายชื่อลูกจ้าง
3. นายจ้างลงนามในเอกสารตามข้อ 1 และ 2
4. เอกสารที่ใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนนายจ้าง

  • เอกสารการจดทะเบียนพาณิชย์ (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)/เอกสารหนังสือจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (กรณีเป็นนิติบุคคล) จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้มีอำนาจในการทำนิติกรรม จำนวน 1 ฉบับ
  • สำเนาทะเบียนบ้านผู้มีอำนาจในการทำนิติกรรม จำนวน 1 ฉบับ
  • แผนที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ จำนวน 1 ฉบับ
  • ภาพถ่ายสถานประกอบการ จำนวน 2 ภาพ (ภาพถ่ายให้เห็นบริเวณสถานประกอบการและรอบๆบริเวณ และภาพสถานประกอบการพร้อมป้ายชื่อกิจการ
  • นายจ้างลงนามรับรองสำเนาเอกสารทุกฉบับ
  • หากไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้ ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจและแนบสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ฉบับ ติดอากรแสตมป์ 10-30 บาท แล้วแต่จำนวนเรื่องที่มอบอำนาจ

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง
1. จัดทำคำขอขึ้นทะเบียนลูกจ้าง (1 คน ต่อ 1 ฉบับ)
2. เอกสารที่ใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง

  • สำเนาบัตรประชาชนลูกจ้าง จำนวน 1 ฉบับ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  • เลือกสถานพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาล 3 ลำดับ
  • นายจ้างและลูกจ้างลงนามรับรองการขึ้นทะเบียนลูกจ้างในเอกสาร